วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ล่ามแปลภาษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๕๗/๒๕๔๕
ป.วิ.พ. มาตรา ๔๖ วรรคสี่
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๗๒, ๒๓๗ ทวิ
                  การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๗ ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๒ พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนำมาสืบ ดังนี้ การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง เพราะมิใช่การพิจารณาหลังฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง
                  ส่วนที่การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปรากฏข้อความในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการพิมพ์ข้อความแทรกมาระหว่างบรรทัดว่า "ก่อนสืบพยานได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ" ซึ่งจำเลยยกเป็นข้อพิรุธสงสัยนั้น แต่จำเลยก็มิได้ยืนยันว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ กลับเบิกความว่า เนื่องจากเวลาผ่านไปนานแล้วจำเลยจำไม่ได้ว่าศาลถามหรือไม่ จึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยในเรื่องทนายความแล้วการสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลเป็นไปโดยชอบ
                   การเบิกความของผู้เสียหายผ่านล่าม เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๗ ทวิ นั้น โจทก์ได้จัดล่ามซึ่งปรากฏว่าก่อนจะแปลคำเบิกความล่ามดังกล่าวสาบานตนแล้ว แม้นางสาว อ. จะเป็นเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองการเป็นล่ามก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ อีกทั้ง จำเลยก็มิได้คัดค้านล่ามดังกล่าวไว้ในการสืบพยาน การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทย ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๕๖๗/๒๕๔๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓, ๑๙๕
                 จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ และต้องมีล่ามแปล ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสองประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
                 ศาลฎีกาได้ตรวจคำให้การของจำเลยคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ตลอดจนรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ ณ ที่ใดเลยว่า นาง ร. ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของจำเลยให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจ ไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล และนาง ร. ก็มิได้ลงลายมือชื่อในคำแปลนั้นเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๑๘๗/๒๕๓๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๗๖
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗
               จำเลยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยสามารถตอบคำถามทนายจำเลยโจทก์และศาลเป็นภาษาไทย โดยมิต้องใช้ล่ามแปล ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย บันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยไว้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ ไม่ชอบเหตุที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๔๗๖/๒๕๓๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓ วรรคสอง , ๑๓๔
             การที่ล่ามแปลคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยโดยมิได้สาบานหรือปฏิญาณตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง นั้น มีผลทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ไม่ทำให้การสอบสวนคดีนี้เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง