วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การรายงานผลคดีคนต่างด้าวเป็นผู้ต้องหา

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าว
              (ตามบันทึกสั่งการ ตร. ที่ ๐๐๒๙.๘๔๑/๐๐๙๔ ลง ๓๑ ต.ค.๒๕๕๑ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา)
กรณีคนต่างด้าวเป็นผู้ต้องหา
              (กรณีคนต่างด้าวถูกควบคุมหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ให้ พงส. อายัดตัวต่อเรือนจำ และสถานีตำรวจท้องที่ที่เรือนจำตั้งอยู่ ถ้ามีการปล่อยตัวจากเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ให้ พงส. นำตัวส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง)
การติดตามผลคดี และการรายงานผลคดีถึงที่สุด
              ๑.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยไม่รอลงอาญา (เว้นแต่ความผิดโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท)
                   ในระหว่างที่คนต่างด้าวถูกจำคุกตามคำพิพากษา ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี รีบรายงานผลคดีไปยัง สตม. โดยในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งพี่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด
                   เมื่อคนต่างด้าวพ้นโทษแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ดำเนินการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่พ้นโทษโดยให้ปรากฏชื่อ ชื่อสกุล (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ ผลคดีของศาล หมายเลขคดีดำ หมายเลขคดีแดง วันเดือนปีที่พิพากษา ฐานความผิดที่ลงโทษ และได้รับโทษอย่างไร จากนั้น ส่งตัวคนต่างด้าวไปยัง สตม. สำหรับในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งที่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด โดยส่งตัวคนต่างด้าวไปพร้อมกับหนังสือเดินทางหรือสำเนาหนังสือเดินทาง และรายงานตามแบบ "ขอส่งตัวคนต่างด้าวและรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวถูกดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วมาเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒" (แบบที่ ๓) (ให้แนบสำเนาคำพิพากษา สำเนาหมายปล่อย สำเนาคำสั่งไม่ฟ้อง สำเนาใบเสร็จรับเงินการเสียค่าปรับชั้นศาลหรือชั้น พงส. แล้วแต่กรณี และให้ สตม. พิจารณาว่าคนต่างด้าวมีพฤติการณ์ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่)
              ๒.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กักขังหรือกักขังแทนค่าปรับ (เว้นแต่ความผิดหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท) ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ดำเนินการรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่ถูกกักขังโดยให้ปรากฏชื่อ ชื่อสกุล (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ ผลคดีอาญาของศาล หมายเลขคดีดำ หมายเลขคดีแดง วันเดือนปีที่พิพากษา ฐานความผิดที่ศาลลงโทษ และได้รับโทษอย่างไร แล้วรายงานตามแบบ "ขอส่งรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวถูกกักขังหรือกักขังแทนค่าปรับมาเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒" (แบบที่ ๔) พร้อมกับส่งหนังสือเดินทางหรือสำเนาหนังสือเดินทางไปให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น
                   หลังจากคนต่างด้าวพ้นโทษกักขังแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ รับตัวคนต่างด้าวที่พ้นโทษส่ง สตม. ในการส่งตัวคนต่างด้าวให้ ผบก.น. หรือ ผบก.ภ.จว. ที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ สนับสนุนการส่งตัวคนต่างด้าวที่พ้นโทษแล้ว โดยในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งที่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด ในการส่งตัวคนต่างด้าวดังกล่าวให้ส่งพร้อมแบบรายงานแบบที่ ๔ ดังกล่าวข้างต้น
              ๓.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ หรือคนต่างด้าวชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล หรือตามที่เจ้าพนักงานเปรียบเทียบ หรือคนต่างด้าวกระทำความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
                    ๓.๑  ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวสิ้นสุด และคนต่างด้าวยังไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” อันเป็นความผิดตามมาตรา ๘๑ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนดำเนินคดีกับคนต่างด้าวในความผิดฐานดังกล่าว หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วจึงให้ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
                   ๓.๒  ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวยังไม่สิ้นสุด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนปล่อยตัวคนต่างด้าวไป เว้นแต่ พฤติการณ์และการกระทำของคนต่างด้าวที่ต้องหาคดีอาญาและคดีถึงที่สุด มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๒ (๓) (๗) (๘) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑

              ๔.  กรณีที่มีการจับกุมคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว หรือกัมพูชา ซึ่งกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการผลักดันออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ต้องดำเนินคดีตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๒๒.๑๒๒/๑๖๗๐ ลงวันที่ ๑๑ ธ.ค.๒๕๔๑ ซึ่งออกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๑๑) ลงวันที่ ๒ มิ.ย.๒๕๔๑ โดยให้ผู้จับส่งคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมดังกล่าวไปยัง สตม. สำหรับในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งที่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด โดยให้ส่งคนต่างด้าวไปพร้อมกับบันทึกการจับกุมและแบบรายงาน "ขอส่งตัวคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาเพื่อดำเนินการผลักดันออกไปนอกราชอาณาจักร (กรณีสัญชาติพม่าลาวหรือกัมพูชา)" (แบบที่ ๕)
              ๕. กรณีที่คนต่างด้าวกระทำความผิดและการดำเนินคดียังไม่ถึงที่สุด แต่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
                   ๕.๑  ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวสิ้นสุดมาก่อนถูกจับกุม และคนต่างด้าวยังไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” อันเป็นความผิดตามมาตรา ๘๑ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ดำเนินคดีกับคนต่างด้าวในความผิดฐานดังกล่าว  หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว จึงให้ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
                  ๕.๒ ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวยังไม่สิ้นสุด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ปล่อยตัวคนต่างด้าวไป เว้นแต่ พฤติการณ์และการกระทำของคนต่างด้าวที่ต้องหาคดีอาญาและถึงที่สุดมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๒(๓) (๗) และ (๘) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑
                 ทั้งนี้ การรายงานและการนำตัวคนต่างด้าวดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการโดยเร็ว

กรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                 กรณีพนักงานสอบสวนสงสัยหนังสือเดินทางเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ให้ตรวจสอบโดยตรงกับสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของคนต่างด้าว ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ตามแบบที่ ๖ แล้วแจ้งให้ ตท. ทราบเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาในการติดต่อประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลให้แจ้ง ตท. เป็นผู้ดำเนินการแทน
                 เมื่อพนักงานสอบสวนหรือกองการต่างประเทศ (ในกรณีที่ได้รับรายงาน) พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นการเข้าออกราชอาณาจักรของผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ให้รีบแจ้งรายละเอียดโดยให้ปรากฏชื่อ ชื่อสกุล (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ หมายเลขหนังสือเดินทาง และเหตุผลความจำเป็นในการสกัดกั้นให้ สตม. ทราบเป็นหนังสือ และให้ สตม. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยทันที
                 กรณีที่มีการยึดหนังสือเดินทางของผู้ต้องหาไว้เพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประโยชน์ในทางการสอบสวน หลังจากพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า หมดความจำเป็นในการยึดไว้แล้ว ให้รีบส่งหนังสือเดินทางของผู้ต้องหาคืนให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของผู้ต้องหาที่ประจำอยู่ในประเทศไทย หากไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทย ให้นำส่ง สตม. เพื่อเก็บรักษาไว้และคืนให้กับเจ้าของหนังสือเดินทางต่อไป
                 กรณีที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ประสานงานประจำสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลต่าง ๆ  ประจำประเทศไทย ขอให้ควบคุมตัวคนต่างด้าว โดยอ้างว่า ได้ยกเลิกหนังสือเดินทาง หรืออ้างว่าเป็นบุคคลที่ทางการประเทศนั้น ๆ ต้องการตัว ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ให้เสนอเรื่องผ่าน ตท. เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประมวลเสนอ ตร. เพื่อสั่งการเป็นกรณีต่อไป
                กรณีที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีข้อมูลว่าคนต่างด้าวรายใดมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ให้หน่วยงานนั้นรวบรวมข้อมูล ตลอดจนพฤติการณ์ที่มีลักษณะต้องห้ามแล้วรีบแจ้งไปยังหน่วยงาน ดังนี้
                    -  กรณีมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดให้แจ้งไปยัง บช.ปส.
                    -  กรณีมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณีการค้าหญิงหรือเด็กหรือการลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนให้แจ้งไปยัง บช.ก.
                    -  กรณีมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรให้แจ้งไปยัง ส.
                    -  กรณีมีพฤติการณ์ที่นอกเหนือจากนี้ให้แจ้งไปยัง สตม.
               หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นได้รับข้อมูลแล้วให้รีบดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ตลอดจนพฤติการณ์ของคนต่างด้าวเพิ่มเติม หากพบว่าคนต่างด้าวดังกล่าวมีพฤติการณ์และการกระทำที่มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ให้รีบแจ้งไปยัง สตม. เพื่อพิจารณาว่าบุคคลต่างด้าวผู้นั้นมีพฤติการณ์ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่