วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒
พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

พระราชกำหนด
-  พระราชกําหนดการนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.๒๕๕๙

พระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.๒๕๒๒
-  พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๘

ประกาศกระทรวงมหาดไทย
-  ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ (ฉบับที่ ๑๑)
-  ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (พ.ศ.๒๕๕๖)

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ประกาศคณะกรรมการ
-  ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุมัติการใช้เงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
-  ประกาศคณะกรรมการประสานและกํากับการดําเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เรื่อง กําหนดวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินรางวัลและค่าตอบแทนในการนําจับและดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดฐานค้ามนุษย์จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ระเบียบคณะกรรมการ
-  ระเบียบคณะกรรมการประสานและกํากับการดําเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และอนุมัติการใช้เงินและทรัพยสินของกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
-  ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๘

คำสั่ง
-  คำสั่งกระทรวงแรงงาน ที่ ๗๖/๒๕๕๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

-  แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา (พ.ศ.๒๕๕๖)

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การรายงานผลคดีคนต่างด้าวเป็นผู้ต้องหา

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าว
              (ตามบันทึกสั่งการ ตร. ที่ ๐๐๒๙.๘๔๑/๐๐๙๔ ลง ๓๑ ต.ค.๒๕๕๑ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา)
กรณีคนต่างด้าวเป็นผู้ต้องหา
              (กรณีคนต่างด้าวถูกควบคุมหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ให้ พงส. อายัดตัวต่อเรือนจำ และสถานีตำรวจท้องที่ที่เรือนจำตั้งอยู่ ถ้ามีการปล่อยตัวจากเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ให้ พงส. นำตัวส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง)
การติดตามผลคดี และการรายงานผลคดีถึงที่สุด
              ๑.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยไม่รอลงอาญา (เว้นแต่ความผิดโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท)
                   ในระหว่างที่คนต่างด้าวถูกจำคุกตามคำพิพากษา ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี รีบรายงานผลคดีไปยัง สตม. โดยในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งพี่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด
                   เมื่อคนต่างด้าวพ้นโทษแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ดำเนินการรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่พ้นโทษโดยให้ปรากฏชื่อ ชื่อสกุล (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ ผลคดีของศาล หมายเลขคดีดำ หมายเลขคดีแดง วันเดือนปีที่พิพากษา ฐานความผิดที่ลงโทษ และได้รับโทษอย่างไร จากนั้น ส่งตัวคนต่างด้าวไปยัง สตม. สำหรับในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งที่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด โดยส่งตัวคนต่างด้าวไปพร้อมกับหนังสือเดินทางหรือสำเนาหนังสือเดินทาง และรายงานตามแบบ "ขอส่งตัวคนต่างด้าวและรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวถูกดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วมาเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒" (แบบที่ ๓) (ให้แนบสำเนาคำพิพากษา สำเนาหมายปล่อย สำเนาคำสั่งไม่ฟ้อง สำเนาใบเสร็จรับเงินการเสียค่าปรับชั้นศาลหรือชั้น พงส. แล้วแต่กรณี และให้ สตม. พิจารณาว่าคนต่างด้าวมีพฤติการณ์ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่)
              ๒.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กักขังหรือกักขังแทนค่าปรับ (เว้นแต่ความผิดหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท) ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ดำเนินการรวมรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่ถูกกักขังโดยให้ปรากฏชื่อ ชื่อสกุล (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ ผลคดีอาญาของศาล หมายเลขคดีดำ หมายเลขคดีแดง วันเดือนปีที่พิพากษา ฐานความผิดที่ศาลลงโทษ และได้รับโทษอย่างไร แล้วรายงานตามแบบ "ขอส่งรายละเอียดเกี่ยวกับคนต่างด้าวถูกกักขังหรือกักขังแทนค่าปรับมาเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒" (แบบที่ ๔) พร้อมกับส่งหนังสือเดินทางหรือสำเนาหนังสือเดินทางไปให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น
                   หลังจากคนต่างด้าวพ้นโทษกักขังแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ รับตัวคนต่างด้าวที่พ้นโทษส่ง สตม. ในการส่งตัวคนต่างด้าวให้ ผบก.น. หรือ ผบก.ภ.จว. ที่สถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ตั้งอยู่ สนับสนุนการส่งตัวคนต่างด้าวที่พ้นโทษแล้ว โดยในส่วนกลางให้ส่งที่ ศสส.สตม. ในส่วนภูมิภาคให้ส่งที่ ศสส.สตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด ในการส่งตัวคนต่างด้าวดังกล่าวให้ส่งพร้อมแบบรายงานแบบที่ ๔ ดังกล่าวข้างต้น
              ๓.  กรณีคนต่างด้าวต้องหาคดีอาญาและถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ หรือคนต่างด้าวชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล หรือตามที่เจ้าพนักงานเปรียบเทียบ หรือคนต่างด้าวกระทำความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
                    ๓.๑  ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวสิ้นสุด และคนต่างด้าวยังไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” อันเป็นความผิดตามมาตรา ๘๑ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนดำเนินคดีกับคนต่างด้าวในความผิดฐานดังกล่าว หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วจึงให้ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑ หรือข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
                   ๓.๒  ในกรณีที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวยังไม่สิ้นสุด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนปล่อยตัวคนต่างด้าวไป เว้นแต่ พฤติการณ์และการกระทำของคนต่างด้าวที่ต้องหาคดีอาญาและคดีถึงที่สุด มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๒ (๓) (๗) (๘) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวนดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ๑

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ล่ามแปลภาษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๕๗/๒๕๔๕
ป.วิ.พ. มาตรา ๔๖ วรรคสี่
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๗๒, ๒๓๗ ทวิ
                  การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๗ ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๒ พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนำมาสืบ ดังนี้ การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง เพราะมิใช่การพิจารณาหลังฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง
                  ส่วนที่การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปรากฏข้อความในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการพิมพ์ข้อความแทรกมาระหว่างบรรทัดว่า "ก่อนสืบพยานได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ" ซึ่งจำเลยยกเป็นข้อพิรุธสงสัยนั้น แต่จำเลยก็มิได้ยืนยันว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ กลับเบิกความว่า เนื่องจากเวลาผ่านไปนานแล้วจำเลยจำไม่ได้ว่าศาลถามหรือไม่ จึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยในเรื่องทนายความแล้วการสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลเป็นไปโดยชอบ
                   การเบิกความของผู้เสียหายผ่านล่าม เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๗ ทวิ นั้น โจทก์ได้จัดล่ามซึ่งปรากฏว่าก่อนจะแปลคำเบิกความล่ามดังกล่าวสาบานตนแล้ว แม้นางสาว อ. จะเป็นเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองการเป็นล่ามก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ อีกทั้ง จำเลยก็มิได้คัดค้านล่ามดังกล่าวไว้ในการสืบพยาน การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทย ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๕๖๗/๒๕๔๔
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓, ๑๙๕
                 จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ และต้องมีล่ามแปล ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสองประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
                 ศาลฎีกาได้ตรวจคำให้การของจำเลยคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ตลอดจนรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ ณ ที่ใดเลยว่า นาง ร. ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของจำเลยให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจ ไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล และนาง ร. ก็มิได้ลงลายมือชื่อในคำแปลนั้นเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๑๘๗/๒๕๓๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๗๖
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๗
               จำเลยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยสามารถตอบคำถามทนายจำเลยโจทก์และศาลเป็นภาษาไทย โดยมิต้องใช้ล่ามแปล ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย บันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยไว้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ ไม่ชอบเหตุที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๔๗๖/๒๕๓๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓ วรรคสอง , ๑๓๔
             การที่ล่ามแปลคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยโดยมิได้สาบานหรือปฏิญาณตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ วรรคสอง นั้น มีผลทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ไม่ทำให้การสอบสวนคดีนี้เป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขายของหน้าร้าน เร่ขายสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๙๐๘/๒๕๕๑
พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๖
                จำเลยรับการสั่งอาหารจากลูกค้าแล้วเข้าไปประกอบอาหารตามคำสั่ง จากนั้น จึงนำอาหารไปส่งให้แก่ลูกค้า ลักษณะการทำงานแสดงให้เห็นว่า จำเลยต้องปรุงอาหารตามที่ลูกค้าสั่งเสียก่อนจึงจะนำอาหารไปส่งให้แก่ลูกค้ามิได้มีลักษณะเป็นการขายสินค้าที่มีอยู่แล้วในสถานประกอบการค้าซึ่งอาจเป็นร้านค้าหรือแผงลอยให้แก่ลูกค้าไม่ว่าเป็นการค้าส่งหรือค้าปลีก จึงมิใช่เป็นการขายของหน้าร้านที่เป็นงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๖ ประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.๒๕๒๒ และบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.๒๕๒๒ (๖)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๐๐/๒๕๓๕
ป.อ. มาตรา ๓๓
พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๖ , ๓๓
              ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติให้งานเร่ขายสินค้าเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเป็นการค้า หรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร
             จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าว เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว ได้ประกอบอาชีพเร่ขายแผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะไปตามถนนสาธารณะ จึงไม่มีทางที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพเร่ขายสินค้าได้เลย เพราะทางการสงวนให้เป็นอาชีพเฉพาะคนไทยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนกฎหมายที่กำหนดไว้ในตัว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดเพราะไม่ได้รับอนุญาต
             แผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะของกลางคดีนี้จึงเป็นของที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้